Add Your Heading Text Here
แจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนการธุจริตคอร์รัปชั่น
ในการดำเนินธุรกิจเพื่อดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือมีความโปร่งใส มีจรรยาบรรณ บริษัทฯ จึงได้กำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ การแจ้งเบาะแส หรือการให้ข้อมูล รวมถึงการปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการกระทำดังกล่าวนั้น จะไม่ทำให้ผู้กระทำได้รับความเดือดร้อน เสียหาย ระเบียบนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการแจ้งเบาะแสการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้ง การให้ความคุ้มครองให้กับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ให้ข้อมูล รวมถึงผู้ที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน
ขอบเขตและแนวทางปฏิบัติ
ผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทฯ ซึ่งพบเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันของพนักงาน หรือ ผู้บริหารระดับสูง หรือกรรมการ หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน สามารถแจ้งเบาะแส / ร้องเรียน ผ่านช่องทางที่บริษัทฯ กำหนดไว้ในระเบียบนี้ โดยบริษัทฯ จะให้ความคุ้มครองผู้ที่ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสหรือรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน และให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวด้วย
ระเบียบนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งพนักงานทุกคนมีพันธะผูกพันที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ
การแจ้งเบาะแส / ร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน
พนักงานต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นหรือทราบว่ามีการปฏิบัติงานที่ขัดแย้งต่อระเบียบคำสั่งของบริษัทฯ หรือเห็นการกระทำที่เข้าข่ายหรือเพียงสงสัยว่าเป็นการกระทำทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ พนักงานต้องแจ้งผ่านช่องทางที่บริษัทฯกำหนด ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจในการพิจารณาด้วยตนเอง พนักงานสามารถขอคำปรึกษาจากผู้บังคับบัญชาหรือสอบถามจากฝ่ายกำกับดูแลกิจการ
พนักงานพึงต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อกรณีพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชัน
เรื่องที่รับแจ้งเบาะแส / ร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน
- การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ต่อตนเอง หรือผู้อื่น
- พบการทำลายเอกสารหลักฐานใด การบิดเบือน หรือปิดบังข้อมูล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน
- พบการกระทำใดๆ ที่สงสัยว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชันหรือมีเหตุการณ์/ข้อมูลที่อาจเข้าข่ายการกระทำดังกล่าว
- ได้รับผลกระทบจากการแจ้งเบาะแส หรือการให้ข้อมูล หรือให้ความร่วมมือในการค้นหาความจริง หรือปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การถูกกลั่นแกล้ง การถูกลดตำแหน่ง การถูกลงโทษ การถูกปลดออกจากงาน หรือผลกระทบอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้แจ้งเบาะแส
ช่องทางการแจ้งเบาะแส /ร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชัน
พบเห็นเหตุสงสัยที่เข้าข่ายของการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันสามารถแจ้งเบาะแส/ร้องเรียน โดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยชื่อพร้อมทั้งระบุข้อเท็จจริง หรือแจ้งหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันโดยผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งต่อไปนี้
- ประธานกรรมการบริษัทฯ / ประธานกรรมการตรวจสอบ
- ผู้บังคับบัญชาที่ตนเองไว้วางใจในทุกระดับ
- Website : https://www.begistics.co.th/th/complain_b/
(หัวข้อ : ร้องเรียน แจ้งเบาะแส ขอความเป็นธรรมต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน)
- ทาง E-mail : [email protected]
- ทางโทรศัพท์ : 02-096-4999
- ทางไปรษณีย์ : ประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.บี จิสติกส์
เลขที่ 52 อาคารธนิยะพลาซ่า ชั้น 28 ถนนสีลม
แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
กรณีที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูง หรือกรรมการบริษัทฯ ให้แจ้งเรื่องโดยตรงต่อประธานกรรมการบริษัท / ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
หมายเหตุ: บริษัทฯ จะดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี ผู้แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนพึงตระหนักว่า การรายงานโดยไม่สุจริต หรือการรายงานในลักษณะไม่เปิดเผยชื่อนั้น อาจเป็นข้อจำกัดของบริษัทฯ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผู้สอบสวนหรือคณะทำงาน ประกอบด้วย
1. ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน
2. หัวหน้าหน่วยงานทรัพยากรบุคคล
3. หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน
4. เลขานุการบริษัท
ขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียน
- เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน จะส่งเรื่องไปยังผู้สอบสวนหรือคณะทำงาน เพื่อรวบรวมและกลั่นกรองข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีมีการร้องเรียนผ่าน อีเมล์ [email protected] ผู้ที่จะได้รับข้อมูลร้องเรียนคือ หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ประธานกรรมการตรวจสอบ และเลขานุการบริษัท
- ในกรณีที่ร้องเรียนต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ควรร้องเรียนไปยังประธานคณะกรรมการตรวจสอบ หรือหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน และเมื่อเป็นกรณีที่ข้อมูลน่าเชื่อถือแล้ว ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งคณะทำงานทำการสอบสวนต่อไป
- ผู้สอบสวนหรือคณะทำงาน จะตรวจสอบข้อมูลและสอบสวนข้อร้องเรียนด้วยความเป็นอิสระและเป็นธรรม เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการยืนยันหรือโต้แย้งกับข้อร้องเรียนและข้อเท็จจริงที่ได้รับ รวมถึงการให้สิทธิผู้ถูกร้องเรียนได้รับทราบข้อร้องเรียน และพิสูจน์ตนเอง และจะพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป เช่น ยกเรื่องร้องเรียนเนื่องจากไม่มีมูลหรือพื้นฐานการร้องเรียน หรือลงโทษทางวินัย และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ถูกร้องเรียน หากการกระทำนั้นกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
- ให้ผู้สอบสวนหรือคณะทำงานจดถ้อยคำ หรือใช้เครื่องมือบันทึกเสียงของผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำรับทราบหรือแก้ไขตกเติม และให้ลงนามไว้ ในกรณีที่บุคคลตามที่กล่าวมาไม่ยอมลงนาม ให้ผู้สอบสวนหรือหัวหน้าคณะทำงานอ่านให้บุคคลดังกล่าวฟัง และลงชื่อผู้ถูกร้องเรียนไว้
- ให้ผู้สอบสวนหรือคณะทำงานจะแจ้งความคืบหน้าของการสอบสวนเป็นระยะต่อผู้รายงาน ผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือ ผ่านช่องทางที่ให้ไว้และจะดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า
- ให้ผู้สอบสวน หรือคณะทำงานสอบสวนทำรายงานสรุปมีข้อความอย่างน้อยต่อไปนี้
- วัน เวลา สถานที่ มูลเหตุ ลักษณะ ประเภท เหตุการณ์ที่สงสัยว่ามีการกระทำผิด บุคคลที่เกี่ยวข้อง
- จำนวนและมูลค่าของความเสียหาย ถ้าหากมี
- มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายหรือไม่แล้วแต่ความเหมาะสม
- เหตุการณ์ที่สงสัยว่ามีการกระทำผิด มีประกันภัยคุ้มครองหรือไม่
- สรุปผลการสอบสวน ซึ่งควรแสดงด้วยว่า มีจุดอ่อนเกิดขึ้นในระบบการดำเนินงานของบริษัทหรือไม่
- ในระหว่างการสอบสวน ผู้สอบสวนหรือคณะทำงาน อาจเสนอประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้เกี่ยวข้องไปทำงานในหน้าที่อื่นเป็นการชั่วคราว
- ผู้ทำการสอบสวน หรือคณะทำงานเพื่อการสอบสวนโดยเฉพาะ ไม่มีอำนาจสั่งลงโทษผู้ถูกร้องเรียน แต่อาจให้ข้อเสนอแนะการลงโทษได้
- บริษัทจะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รายงาน ผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือไว้เป็นความลับ และจะไม่ยอมให้มีกรณีข่มขู่ คุกคาม หากมีกรณีดังกล่าว ให้แจ้งเรื่องต่อหัวหน้าหน่วยงานทรัพยากรบุคคล หรือบุคคลที่อยู่ในลำดับสูงกว่าขึ้นไป เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองเป็นการเฉพาะตามสถานการณ์
- เมื่อบริษัทได้ทำการสอบสวนแล้วและพบว่าไม่มีการกระทำผิดตามที่มีการร้องเรียน บริษัทจะไม่ดำเนินการลงโทษใดๆ กับผู้ร้องเรียน (หากเป็นกรรมการ หรือพนักงานของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือองค์กรที่บริษัทไปลงทุน) ที่กระทำการโดยสุจริต อย่างไรก็ตาม หากการสอบสวนเห็นว่า ผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนด้วยเจตนาร้ายหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแล้ว บริษัทจะพิจารณาลงโทษผู้ร้องเรียน และ/หรือดำเนินการตามกฎหมาย แล้วแต่กรณี
การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และการปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน
บริษัทฯ ได้กำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองผู้ที่ให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ การแจ้งเบาะแส หรือการให้ข้อมูล รวมถึงการปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการกระทำดังกล่าวนั้น จะไม่ทำให้ผู้แจ้งได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ดังนี้
- บริษัทฯ จะให้ความคุ้มครองผู้ที่ให้ความร่วมมือกับบริษัทฯในการแจ้งเบาะแส หรือ ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ มิให้ได้รับความเดือดร้อน อันตราย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเกิดจากการให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าว
- บริษัทฯ จะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงาน หรือผู้บริหารที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
- กรณีผู้แจ้งเบาะแส / ร้องเรียน พบว่าตนเองได้รับความไม่ปลอดภัยหรืออาจเกิดความเสียหาย สามารถร้องขอให้บริษัทฯ กำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมได้
- เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องเรียน และให้ข้อมูลที่กระทำโดยสุจริต บริษัทฯ จะปกปิดข้อมูล ผู้แจ้งเบาะแส หรือ ให้ข้อมูลและเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ โดยจำกัดให้มีการรับรู้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบค้นหาความจริง หากพบว่ามีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือเปิดเผยโดยไม่เหมาะสมจะถือว่าฝ่าฝืนและเป็นการกระทำที่ผิดวินัย
- กรณีพบว่ามีพนักงาน หรือผู้บริหาร ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น อันมีเหตุจูงใจจากการที่บุคคลอื่นนั้นได้แจ้งเบาะแส / ร้องเรียน หรือปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ถือว่าเป็นการผิดวินัย
บทลงโทษ
ผู้ที่กระทำการใดๆ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ รวมถึงพฤติกรรมที่ส่อไปในทางกลั่นแกล้ง ข่มขู่ลงโทษทางวินัย หรือ เลือกปฏิบัติด้วยวิธีอันมิชอบ อันเนื่องมาจากการแจ้งเบาะแส / ร้องเรียน ต่อผู้แจ้งเบาะแส / ร้องเรียน หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามระเบียบนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย และต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อบริษัทฯ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว
หมายเหตุ: ทั้งนี้ หากระเบียบใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้แทน ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้เป็นต้นไป